วันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

พุทธศาสนา...ศิลปะแห่งการครองชีวิต

ได้อ่านหนังสือ " คู่มือมนุษย์ " ของ "ท่านพุทธทาสภิกขุ "
ท่านพุทธทาสได้ให้มุมมองเกี่ยวกับพุทธศาสนาไว้น่าสนใจจริง ๆ

ศาสนาเหมือนกับของหลายเหลี่ยม...
คนเราย่อมเชื่อความคิดเห็นของตัวเอง
เพราะฉะนั้น ความจริงหรือสัจจะสำหรับคนหนึ่ง ๆ นั้น
มันอยู่ตรงที่ว่าเขาเข้าใจและมองเห็นเท่าไรเท่านั้นเอง

สิ่งที่เรียกว่า " ความจริง " ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
คนเราเข้าถึงปัญหาหนึ่ง ๆ ได้ตื้นลึกกว่ากัน
หรือด้วยลักษณะที่ต่างกันและด้วยสติปัญญาที่ต่างกัน
สิ่งใดที่อยู่เหนือสติปัญญาความรู้ความเข้าใจของตน
หรือตนยังไม่เข้าใจ คนนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นความจริงของเขา
ถ้าเขาจะพลอยว่าจริงไปตามผู้อื่น
เขาก็รู้สึกอยู่แก่ใจว่า ไม่เป็นความแท้ความจริงของเขาเลย
ความจริงของคน ๆ หนึ่งนั้น จะเดินคืบหน้าได้เสมอ
ตามสติปัญญาความรู้ความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ วัน จนกว่าจะถึงความจริงขั้นสุดท้าย
คนเรามีการศึกษามาต่างกัน และมีหลักพิจารณาสำหรับจะเชื่อต่าง ๆ กัน
ฉะนั้น ถ้าจะเอาสติปัญญาที่ต่างกันมาดูพทธศาสนา
ก็จะเกิดความคิดเห็นต่างกันไป
ทั้งนี้เพราะว่าพุทธศาสนาก็มีอะไร ๆ ครบทุกอย่างที่จะให้คนดู
.........
ถ้าจะมองด้วยสายตาของนักศีลธรรม ก็จะเห็นว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งศีลธรรม (Moral)
พุทธศาสนาอีกส่วนหนึ่ง สูงขึ้นไปเป็นสัจจธรรม (Truth)
พุทธศาสนา ในฐานะที่เป็นศาสนา (Religion)
พุทธศาสนา ในฐานะที่เป็นจิตวิทยา (Psychology)
พุทธศาสนา ในฐานะที่เป็นปรัชญา (Philosophy)
พุทธศาสนา ในฐานะที่เป็นวิทยาศาสตร์ (Science)
พุทธศาสนา ในฐานะที่เป็นตรรกวิทยา (Logic)
จะเห็นว่าพุทธศาสนามีหลายเหลี่ยมหลายมุมที่ควรศึกษา
แต่ท่านพุทธทาสยืนยันว่า " พุทธศาสนาเหลี่ยมซึ่งชาวพุทธควรสนใจที่สุด คือ เหลี่ยมที่เป็นศาสนา "
หมายถึงวิธีปฏิบัติโดยรวบรัด เพื่อให้รู้ความจริงว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอะไร
จนถอนความยึดถือหลงใหลต่าง ๆ ออกมาเสียจากสิ่งทั้งปวงได้
การกระทำเช่นนี้เรียกว่า เราเข้าถึงตัวพระพุทธศาสนาในฐานะเป็นพุทธศาสนา
มีผลดียิ่งไปกว่าที่จะถือเป็นเพียงศีลธรรมขั้นพื้นฐาน
และสัจจธรรมอันเป็นความรู้ที่ลึกซึ้งอย่างเดียว โดยไม่ปฏิบัติอะไร
และเป็นผลดีกว่าที่จะถือเป็นปรัชญา ที่มีไว้คิดไว้นึกไว้เถียงกันอย่างสนุก ๆ แล้วไม่ละกิเลสอะไรได้
หรือดีกว่าที่จะถือเป็นเพียงวัฒนธรรม สำหรับการประพฤติที่ดีงามน่าเลื่อมใส
ในด้านสังคมแต่เพียงอย่างเดียว
อย่างน้อยที่สุด เราทั้งหลายควรถือ พุทธศาสนาในฐานะเป็นศิลปะ (Art)
ซึ่งในที่นี้หมายถึงศิลปะแห่งการครองชีวิต
คือเป็นการกระทำที่แยบคายสุขุม ในการที่จะมีชีวิตอยู่เป็นมนุษย์
ให้น่าดูน่าชมน่าเลื่อมใสน่าบูชา เป็นที่จับอกจับใจแก่คนทั้งหลาย
จนคนอื่นพอใจทำตามเราด้วยความสมัครใจไม่ต้องแค่นเข็นกัน
เราจะมีความงดงามในเบื้องต้น ด้วยศีลบริสุทธิ์
มีความงดงามในท่ามกลาง ด้วยการมีจิตใจสงบเย็น เหมาะสมที่จะทำงานในด้านจิต
มีความงดงามในเบื้องปลาย ด้วยความสมบูรณ์แห่งปัญญา
คือรู้แจ้งสิ่งทั้งปวงว่าอะไรเป็นอะไร จนไม่มีความทุกข์เกิดขึ้นเพราะสิ่งทั้งปวงนั้น
เมื่อใครมีชีวิตอยู่ด้วยความงาม 3 ประการ เช่นนี้แล้วถือว่าเป็นผู้มีศิลปะแห่งการดำรงชีพอย่างสูงสุด
ชาวตะวันตกหันมาสนใจพุทธศาสนา ในฐานะเป็นศิลปะแห่งชีวิตโดยนัยนี้เป็นอันมาก
และกล่าวขวัญกันมากกว่าแง่อื่น ๆ
การที่เราเข้าถึงตัวแท้ของพระพุทธศาสนา จนถึงกับนำมาใช้เป็นแบบแห่งการครองชีวิตได้นั้น
มันทำให้เกิดความบันเทิงรื่นเริงตามทางของธรรมะ ไม่เหงาหงอยไม่เบื่อหน่าย
หรือหวาดกลัวดังที่เกรงกันอยู่ว่า ถ้าละกิเลสกันเสียแล้วชีวิตนี้จะแห้งแล้งไม่มีรสชาติอะไรเลย
หรือถ้าปราศจากตัณหาต่าง ๆ โดยสิ้นเชิงแล้ว คนเราจะทำอะไรไม่ได้
หรือไม่คิดทำอะไรอย่างนี้เป็นต้น
แต่โดยที่แท้แล้ว ผู้ดำรงชีวิตอยู่อย่างถูกต้อง ตามศิลปะแห่งการครองชีวิตของพระพุทธเจ้านั้น
คือผู้มีชัยชนะอยู่เหนือสิ่งทั้งปวงที่เข้ามาแวดล้อมตน
ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ บุคคล สิ่งของหรืออะไรก็ตาม
จะเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และทางใจก็ตาม ย่อมจะเข้ามาในฐานะผู้แพ้
ไม่อาจจะทำให้เกิดความมืดมัว สกปรก เร่าร้อนให้แก่ผู้นั้นได้
อากัปกิริยาที่เป็นฝ่ายชนะอารมณ์ทั้งปวงนี้ ย่อมเป็นที่บันเทิงเริงรื่นอย่างแท้จริง
และนี่คือข้อที่ควรถือเป็นศิลปะในพุทธศาสนา...


วันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

ชีวิตมีค่าถ้ารู้จักธรรม

บางคนคิดว่าว่าตัวเองเป็นคนไร้แก่นสาร
บางคนคิดว่าตัวเองไม่มีค่าพอ
ถ้าได้อ่านคำสอนต่อไปนี้
จะรู้ว่าชีวิตของเราสามารถมีค่าได้ถ้ารู้จักธรรม

คำสอนของ " พระอาจารย์สนอง กตปุญโญ "
เรื่อง " ชีวิตมีค่าถ้ารู้จักธรรม "
จากหนังสือ " เตรียมใจไว้ก่อน "
กายวาจาใจของเรานี่ถ้าพูดกันไปแล้ว มันมีค่าตอนมีชีวิตเท่านั้นเอง
ตอนมีลมหายใจก็ยังมีค่า...มีค่ามากเหลือเกิน
จะซื้อกันเป็นร้อย ๆ ล้าน พัน ๆ ล้านก็ไม่มีใครขาย
แต่เวลาตายแล้วไม่มีค่าเลยสักสลึงเดียว
ให้ใครก็ไม่เอา เวลาเป็น ๆ นี่แย่งกันก็มี
แต่พอหมดลมแล้วให้เปล่า ๆ ก็ไม่มีราคา แม้แต่ชื่อก็ยังกลัว
กายคนเรานี่จะเป็นประโยชน์เมื่อมาปฏิบัติธรรม
หมดประโยชน์เมื่อเวลาหมดลม ไปให้ใครเขาก็รังเกียจ
ที่มีธรรมะเท่านั้นจึงจะมีค่า คนดีน่ะมีค่ากว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้
เพราะความดีมีศีลธรรมนี่ทำให้เกิดประโยชน์
เราก็ควรทำใหชีวิตมีค่า
ถ้าเราประมาทจะเอาอะไรไปไม่ได้เลย ไม่เข้าวัดไม่หาศีลธรรมไม่ปฏิบัติธรรม
เกิดเป็นมนุษย์แล้วก็หลงเมาอยู่ในร่างกาย ไม่คิดทำความดี
ก็เหมือนกับลิงเก็บมะพร้าว
เก็บได้ร้อย ๆ ลูก แต่มันแกะเนื้อในกินไม่ได้
สู้เจ้าของลิงไม่ได้ ที่ฉลาดรู้จักจับลิงมาฝึกให้เก็บมะพร้าวได้
จิตใจก็เหมือนลิง
ถ้าเราจับไม่ได้ มันก็เป็นลิงอยู่นั่นแหละ ไม่มีความสงบได้เลย
ยิ่งโตมากก็ยิ่งคิดมากเรื่องมาก ไม่รู้จะดับได้อย่างไร
แต่ถ้าเราเอาธรรมะ ยิ่งภาวนามากก็ยิ่งสงบมาก
ยิ่งปล่อยวางได้มากนั่นแหละ ยิ่งมีความสุขมาก
ยิ่งเห็นคุณค่า ยิ่งอยู่นานเท่าไร ก็ยิ่งมีประโยชน์กับเรามากขึ้น
เพราะมีเวลาปฏบัติธรรม
บางคนก็เบื่อชีวิตตนเอง เพราะมันไม่สงบ
ยิ่งอยู่แก่ตัวไปนานวัน วุ่นวายมากขึ้นก็เบื่อหน่ายชีวิต
ไม่รู้จะไปทางไหนถูกอย่างนี้เราต้องไปทางธรรม
สงบใจให้เป็นตัวเรา จะต้องรู้ตัวเรา
ใจเราก็ต้องรู้ใจเราจึงจะหยุดยั้งชั่งจิตตัวเองได้ดี
และจะเป็นทางสงบสุขในชีวิตได้

วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

พระคุณแม่

หนี้บุญคุณอันยิ่งใหญ่เหลือคณานับ คือ " หนี้พระคุณของพ่อแม่ "
เพราะพ่อแม่เป็นผู้ให้กำเนิดเรา...เลี้ยงดูเรา
แม่ต้องลำบากอุ้มท้องลูกเป็นเวลาถึง 9 เดือน
เมื่อคลอดลูกแล้ว แม่ก็ยังต้องประคบประหงมเลี้ยงดู
ยามลูกเจ็บป่วยก็เฝ้ารักษา
พ่อก็ทำงานหาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัว
ส่งเสียให้ลูกเล่าเรียนจนกระทั่งมีงานทำและมีเหย้ามีเรือน
พระคุณของพ่อแม่ยิ่งใหญ่จริง ๆ
มีคติธรรมคำกลอนมาฝาก
เป็นคำสอนของ" พระราชสุทธิญาณมงคล "

พระคุณพ่อแม่
พระคุณพ่อแม่ ล้ำฟ้า มหาสมุทร
พระคุณพ่อแม่ มากสุด มหาศาล
พระคุณพ่อแม่ มากโข โอฬาฬาร
พระคุณของท่าน เลิศฟ้า สถาพร

วิธีตอบแทนพระคุณพ่อแม่
1. ท่านเลี้ยงเรามาแล้วเลี้ยงท่านตอบ
พ่อแม่นั้น ท่านกล่อมเกลี้ยง เลี้ยงเรามา
จงอุตส่าห์ เลี้ยงท่านตอบ กอร์ปเหตุผล
สนองคุณ ของท่าน หมั่นปรือปรน
เป็นมงคล ล้ำเลิศ ที่เกิดมา
จงเลี้ยงกาย เลี้ยงใจ ให้ท่านสุข
ไม่มีทุกข์ พัวพัน ท่านหรรษา
ลูกบำรุง ปรุงสุข ให้ทุกครา
พบแดนฟ้า เมืองสวรรค์ ทุกวันคืน
2. ทำกิจธุระของท่าน
อันลูกดี ท่านมีงาน การธุระ
ก็พึงจะ ช่วยทำกิจ ไม่บิดผัน
ช่วยทำงาน การของท่าน ทุกคืนวัน
ให้ท่านนั้น สันติสุข ไม่ทุกข์ทน
เชิญลูกสาว ลูกชาย ทั้งหลายเอ๋ย
อย่าละเลย งานแม่พ่อ ก่อกุศล
ดุจช่วยพรหม พระอรหันต์ ของของตน
เป็นบุญล้น ควรทำ ประจำวัน
3. ดำรงวงศ์สกุล
จงดำรง รักษา สกุลวงศ์
คือเผ่าพงศ์ ให้มีหลัก เป็นศักดิ์ศรี
หนึ่งลูกลูก ร่วมรัก สามัคคี
จิตไมตรี ต่อกัน จนวันตาย
สองรักษา ความดี ที่ท่านทำ
ไม่เหยียบย่ำ ทำคุณ ให้สูญหาย
รักษาขนบ ธรรมเนียม อย่าทำลาย
ท่านทำไว้ อะไรบ้าง ตั้งใจทำ
4. ทำตัวให้สมควรรับมรดก
ประพฤติตน ให้เป็นคน สมควรรับ
เรื่องของทรัพย์ มรดก ไม่ผกผัน
ไม่เอาขาย ซื้อสุรา เล่นพนัน
รักษามั่น ทรัพย์ไม่วาย ทำลายวงศ์
มาจัดแจก แยกย้าย ขยายทรัพย์
ให้ได้นับ เป็นสองสาม งามระหง
ให้จำเริญ ถ้วนทั่ว ทั้งเผ่าพงศ์
ทรัพย์มั่นคง มรดก ตกเป็นคุณ
5. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้วทำบุญอุทิศไปให้ท่าน
เมื่อพ่อแม่ ล่วงลับ ดับไปแล้ว
โอ้ลูกแก้ว ทำบุญ คุณกุศล
อุทิศไป ให้พ่อแม่ ผู้วายชนม์
ลูกทุกคน ควรทำ ประจำวัน
ดวงวิญญาณ ท่านนั้น ประสบสุข
ไม่มีทุกข์ ผลบุญชู สู่สวรรค์
แดนสุขสม ร่มเย็น เป็นเทวัน
อยู่สวรรค์ เมืองฟ้า สถาพร



วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

ความเข้าใจเพื่อนมนุษย์

ชอบอ่านหนังสือคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุมาก
คำสอนของท่านสามารถนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างดียิ่ง
คำสอนบทหนึ่งสอนให้มีความเข้าใจเพื่อนมนุษย์
ให้เหมือนกับความเข้าใจตัวเอง
ขออนุญาตคัดมาให้อ่านกัน
คำสอนนี้มีหัวข้อว่า " จงทำกับเพื่อนมนุษย์โดยคิดว่า "
เขาเป็นเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตาย ของเรา
เขาเป็นเพื่อนเวียนว่ายอยู่ในวัฏฏสงสารด้วยกันกะเรา
เขาก็ตกอยู่ใต้อำนาจกิเลสเหมือนเรา ย่อมพลั้งเผลอไปบ้าง
เขาก็มีราคะ โทสะ โมหะ ไม่น้อยไปกว่าเรา
เขาย่อมพลั้งเผลอบางคราวเหมือนเรา
เขาก็ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไมเหมือนเรา ไม่รู้จักนิพพานเหมือนเรา
เขาโง่ในบางอย่าง เหมือนที่เราเคยโง่
เขาก็ตามใจตัวเองในบางอย่าง เหมือนที่เราเคยกระทำ
เขาก็อยากดี เหมือนเรา ที่อยาก ดี-เด่น-ดัง
เขาก็มักจะกอบโกย และเอาเปรียบเมื่อมีโอกาสเหมือนเรา
เขามีสิทธิ ที่จะบ้า ดี-เมาดี-หลงดี-จมดี เหมือนเรา
เขาเป็นคนธรรมดา ที่ยึดมั่นถือมั่นอะไรต่าง ๆ เหมือนเรา
เขาไม่มีหน้าที่ ที่จะเป็นทุกข์ หรือตายแทนเรา
เขาเป็นเพื่อนร่วมชาติ ร่วมศาสนากะเรา
เขาก็ทำอะไร ด้วยความคิดชั่วแล่น และผลุนผลันเหมือนเรา
เขามีหน้าที่รับผิดชอบ ต่อครอบครัวของเขา มิใช่ของเรา
เขามีสิทธิ ที่จะมีรสนิยม ตามพอใจของเขา
เขามีสิทธิ ที่จะเลือก (แม้ศาสนา) ตามพอใจของเขา
เขามีสิทธิ ที่จะใช้สมบัติสาธารณะ เท่ากันกับเรา
เขามีสิทธิ ที่จะเป็นโรคประสาท หรือเป็นบ้าเท่ากับเรา
เขามีสิทธิ ที่จะขอความช่วยเหลือ เห็นอกเห็นใจจากเรา
เขามีสิทธิ ที่จะได้รับอภัยจากเรา ตามควรแก่กรณี
เขามีสิทธิ ที่จะเป็นสังคมนิยม หรือเสรีนิยมตามใจเขา
เขามีสิทธิ ที่จะเห็นแก่ตัว ก่อนเห็นแก่ผู้อื่น
เขามีสิทธิ แห่งมนุษยชน เท่ากันกับเราสำหรับจะอยู่ในโลก
ถ้าเราคิดกันอย่างนี้ จะไม่มีการขัดแย้งใด ๆ เกิดขึ้น