วันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2551

โกรธตอบดีไหม

ระยะนี้จะพบแต่คน...เครียด ๆ
อากาศเปลี่ยนแปลงมากไป...หรือไงก็ไม่รู้
โทษอากาศไว้ก่อน...ปลอดภัยดี
ไปตรงไหนเจอแต่คนหงุดหงิ๊ด...หงุดหงิด
พอดีได้รับแจกหนังสือ...(ชอบของฟรี)
ชื่อหนังสือ " อภัยทาน รักบริสุทธิ์ "
ผู้เขียน " ปิยโสภณ "
วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก
เผยแผ่เป็นธรรมทานโดย
โครงการหนังสือธรรมะ ธรรมทาน
คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ซึ่งจัดพิมพ์หนังสือ...เพื่อการเผยแผ่ความดีระหว่างกัน
เพื่อให้โลกสงบสุขร่มเย็น...เป็นปกติ
โดยให้ทุกคนเริ่มต้นนับหนึ่ง...ที่ตัวเรา
ที่ปกหลังหนังสือมีข้อความดังนี้

บางที คนที่เขาโกรธเรา หากเราโกรธตอบก็จะเป็น
การตอบรับกระแสกันเหมือนการโทรศัพท์
ถ้าอีกฝ่ายไม่เปิดรับโทรศัพท์
ฝ่ายที่โทรถึงก็หมดสิทธิ์จะคุยกับเรา
เพราะกระแสไม่สามารถส่งถึงกันได้

การตอบรับซึ่งกันและกัน ถ้าเป็นความดี
เป็นความรัก ความอบอุ่นก็ดีไป
แต่ถ้าเป็นความเกลียด ความโกรธสิ่งที่จะตามมา
คือการรับรู้และเก็บอารมณ์ทั้งโกรธ
และเกลียดนั้นไว้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย

วันเสาร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2551

สรรเสริญ - นินทา

วันนี้มีญาติมาบ่น เรื่องโดนคนอื่นนินทาให้ฟัง
ญาติบอกว่าไม่ค่อยสบายใจ เลยแนะนำไปอย่างนี้
สรรเสริญ - นินทา เป็นเหมือนฝาแฝดกันไปไหนมักไปคู่กัน
ไม่เคยมีใครในโลกนี้แม้สักคนเดียว ที่ได้รับแต่คำสรรเสริญ
และก็ไม่มีใครในโลกนี้แม้สักคนเดียว ที่ได้รับแต่คำนินทา
ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ เราจะเบาใจ และจะทุกข์น้อย
ถ้าเราไม่ใส่ใจว่า ใครจะสรรเสริญหรือไม่
และไม่สนใจว่าใครจะนินทาอย่างไร
เราจะไม่ทุกข์ใจ ถ้าไม่มีคนสรรเสริญ
และจะไม่ดีใจจนเกินเหตุเมื่อมีคนสรรเสริญ
นอกจากนี้คนที่นินทาก็จะไม่สามารถทำให้เราหวั่นไหวได้
อีกหน่อยเขาก็เลิกไปเอง
เราควรคิดว่าเขาต้องมีปมด้อย
หรือไม่มั่นใจอะไรบางอย่างหรือหลายอย่าง
เขาจึงชอบนินทาคนอื่น
ที่สำคัญกว่าอะไรทั้งหมดก็คือ
ถ้าเราไม่อยากให้คนอื่นนินทาเรา
เราก็อย่าไปนินทาคนอื่นละกัน

วันนี้มีเรื่อง"สรรเสริญ - นินทา"

ที่กระทัดรัดเข้าใจง่ายและเป็นของจริงทั้งสิ้น
คัดจากหนังสือ "มนุษย์"ของ "คุณศิวโมกข์ ก้องญาณ" มาฝากอีก

..........สรรเสริญ..........

สรรเสริญ
ย่อมเป็นที่ชื่นชมของผู้มีอัตตา
และเป็นที่นิยมของคนอ่อนแอ
แต่ย่อมไม่เป็นที่ใยดีของวิสุทธิชน
และไม่เป็นที่แยแสของผู้ที่มีจิตใจเข้มแข็ง

หลักการมีอยู่ว่า
บุคคลที่ยังมีอัตตา
ไม่ควรได้รับการสรรเสริญ
เพราะการเยินยอทำให้หลงตน
อัตตาเติบโต
ความโง่แผ่คลุมมากขึ้น
ผู้ใดสรรเสริญผู้อื่นด้วยความกลัวเกรง
นับเป็นผู้ทำลายตัวเองด้วยใจเขลา
และทำร้ายผู้อื่นด้วยปัญญาเบา

เป็นความจริงอยู่ว่า
บุคคลใดแสวงหาการสรรเสริญ
ย่อมไม่ได้รับการสรรเสริญแท้จริง
บุคคลใดไม่ไยดีกับการสรรเสริญ
ย่อมได้รับการสรรเสริญที่แท้จริง

..........นินทา..........

ผู้นินทาคนอื่น
คือผู้ไม่พึงใจในตนเอง
ไม่มั่นใจในตนเอง

การนินทาคนอื่น
ทำให้เมตตาลดน้อยลง
ยิ่งเมตตาน้อยลงเพียงใด
จิตใจก็ห่อเหี่ยวมากเพียงนั้น
ยิ่งจิตใจห่อเหี่ยวมากเท่าใด
ชีวิตก็หมองเศร้ามากเท่านั้น

ยิ่งนินทาคนอื่นมากเท่าใด
ตัวผู้นินทาจะมีความระแวงมากเทียมนั้น
ไม่อาจคบหาผู้อื่นให้สนิทใจได้
และความผิดพลาดมากที่สุด
คือการไม่เปิดโอกาสให้ผู้อื่นวิจารณ์ตนอย่างตรงไปตรงมา
จนทำให้เขาต้องนินทาลับหลัง
เกิดผลเสียต่อตนเอง
ด้วยเขาย่อมไม่จริงใจ
เกิดผลเสียต่อผู้นินทา
ด้วยเขาย่อมขลาดกลัวมากขึ้น
เป็นการทำลายตนเองและจิตใจผู้อื่นอย่างเร้นลึก


ในหนังสือ "มนุษย์" มีอีกมากมายหลายเรื่องที่น่าสนใจ
ถ้าเป็นไปได้น่าจะได้ซื้อไว้อ่านกันทั้งเล่ม
หน้าปกก็สวยดี
แต่ไม่แน่ใจว่ายังมีจำหน่ายอยู่ไหม
เพราะเล่มที่มีอยู่ก็ซื้อไว้นานแล้ว

วันจันทร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2551

เสรีภาพแห่งการให้อภัย

วันนี้รู้สึกอารมณ์บ่จอย...หงุดหงิดกับคำพูดบางคำของคนบางคน
ขนาดบอกว่าเป็นคนมองโลกในแง่ดีนะเนี่ย

บางครั้งที่มีคนใช้วจีกรรมทำให้เราไม่สบายใจ
จะพยายามใช้ทางพระเข้าข่ม...นึกไว้เสมอว่า
คนทุกคนในโลกนี้เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น
แต่วันนี้เป็นอะไรก็ไม่รู้ สงสัยเป็นเพราะอากาศเปลี่ยนแปลงมาก
กลางคืนเย็นจัด กลางวันร้อนจัด (โทษอากาศไว้ก่อน)
พอได้ยินถ้อยคำที่มากระทบกระเทือนเรา
เห็นช้างเท่าหมูเลย...
รู้สึกทันทีว่าฮึ่ม... (แต่ไม่แฮ่)...ต้องโต้ตอบบ้าง
ก็พูดกลับไปนิดหน่อยพอประมาณ
พูดไปแล้วมาคิดทบทวนตัวเองตอนนี้รู้สึกว่าตัวเองน่าเกลียดจังเลย
ทำไมไม่คุมสติตัวเองให้อยู่
กลับถึงบ้านเลยค้นหาหนังสืออ่านเตือนสติตัวเอง

ได้หนังสือชื่อ "เสรีภาพแห่งการให้อภัย"
The Freedom of Forgiveness
เขียนโดย เดวิด อ๊อกเบิร์กเกอร์ (David Augsburger)
แปลโดย มณฑาทิพย์ วัฒนวงศ์

อ่านอีกหนึ่งรอบ...เคยอ่านไปแล้วหลายรอบ
เพราะชอบน่ะซี...สอนใจตัวเองได้ดีมาก
ลองดูสักตอนสองตอนนะ


ทำไมฉันต้องให้อภัย
...พวกเราส่วนมากมักจะติดอยู่ที่จุดนี้ และถามว่า
"ทำไม ๆ ทำไม ถึงต้องให้อภัย?
...ทำไมคนที่ทำผิดด่อฉันไม่ต้องชดใช้ค่าความผิดของเขาก่อนเล่า?
.........................................................
...ถ้ามีการตัดสินความเกี่ยวกับเรื่องนี้ตามธรรมชาติ
ก็หมายความว่าจะต้องมีใครสักคนเป็นผู้ชำระชดใช้
...การให้อภัยดูจะเป็นเรื่องง่ายเกินไป
ควรจะเป็นตาแทนตา โลหิตชดใช้ด้วยโลหิตมากกว่า
...ใช่ คุณอาจต้องการฟันแทนฟันในการตอบแทนหรือแก้แค้น
แต่จะเรียกร้องอะไรเป็นค่าชดใช้..........................
...แล้วการแก้แค้นล่ะ?
ถ้าคุณไม่อาจจะได้รับการชดใช้ที่เหมาะสมจากศัตรู
อย่างน้อยคุณก็อาจจะล้างแค้นได้
โดยการกระทำกลับต่อเขาเหมือนที่เขาได้กระทำต่อคุณ
...การกระทำเช่นนี้ก็เท่ากับว่าคุณได้กระทำตัวเอง
ให้ตกต่ำลงไปเท่าเทียมกับศัตรูของคุณ
มึคำกล่าวไว้ว่า "การทำร้ายจะทำให้คุณอยู่ต่ำกว่าศัตรูของคุณ
การผูกพยาบาทจะทำให้คุณเท่าเทียมกับศัตรูของคุณ
แต่การให้อภัยจะยกคุณขึ้นเหนือทั้งหมด"

การให้อภัย การลืมเลือนและการปล่อยให้ผ่านไป
นักศาสนศาสตร์ชื่อ แฟรงค์ สแต็ค ได้เขียนถึงการให้อภ้ยที่แท้จริง ดังนี้
...การให้อภัยและการลืมนั้นเกี่ยวข้องกัน
แต่การให้อภัยนั้นต้องมาก่อนการลืม
ในการให้อภัย ผู้นั้นจะต้องย้อนคิดถึงความเจ็บปวดความสะเทือนใจ
และการอยุติธรรมที่ได้กระทำไปแล้วก่อน
...ส่วนการลืมเป็นการละเลยไม่สนใจว่าฝ่ายตรงข้ามทำร้ายอะไรเรา
โดยการขับไล่ความรู้สึกที่ว่ามีผู้กระทำผิดต่อเรา..................
การลืมนั้นเป็นแง่ลบและเป็นการนิ่งเฉย
การให้อภัยเป็นแง่บวกและเป็นการสร้างสรรค์

ก่อนที่ผู้ใดจะสามารถให้อภัยและลืมได้
ผู้กระทำให้ขุ่นเคืองและผู้ถูกกระทำต้องรำลึกร่วมกัน
คิดถึงการกระทำผิดที่ได้กระทำไปร่วมกัน
จบสิ้นความรู้สึกนั้นร่วมกัน เสริมสร้างพันธมิตรใหม่ร่วมกัน
และลืมเลือนทุกสิ่งที่ผ่านมาด้วยกัน
การทบทวนความจำ การเสริมสร้างใหม่
การให้อภัยและการลืมล้วนแต่จะช่วยให้เราได้เพื่อนอีกคนหนึ่งกลับมา
..........................................................
การลืมเป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากการให้อภัยอย่างสมบูรณ์
การลืมไม่ใช่ขั้นตอนแรกของการให้อภัย
มันเป็นขั้นตอนสุดท้าย

นี่คือบางส่วนเท่านั้น...ถ้าสนใจลองหาอ่านนะ
มีคุณค่าทุกตัวอักษรเลย




วันเสาร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2551

รักษาใจให้ดี...ในปีใหม่

ได้รับ ส.ค.ส.2551 จากเพื่อน
เป็นหนังสือชื่อ " ส.ค.ส. 2551 รักษาใจให้ดี ในปีใหม่ "
(ส.ค.ส. จากสองศรีพระศาสนา)
ปกหน้าเป็นภาพท่านปัญญานันทภิกขุ...ปกหลังเป็นภาพท่านพุทธทาสภิกขุ
ข้างในมีบทกลอนอวยพรปีใหม่และคำสอนของทั้ง 2 ท่าน
ขออนุญาตคัดบางตอนมาฝาก


คำ : พุทธทาสภิกขุ
อันชีวิต ผลิตขึ้นมา จากพระธรรม
ด้วยพระธรรม โดยพระธรรม นำวิถี
สุทธิ ปัญญา เมตตา และขันตี
ปีใหม่มี มากกว่าเก่า พวกเราเอย
..................................
คำ : พุทธทาสภิกขุ
ขออวยพร วอนอ้าง คุณพระพุทธ
ได้ปกป้อง ผองมนุษย์ โศกกษัย
ขออ้างคุณ พระธรรม อันอำไพ
ช่วยคุ้มสัตว์ ทั่วไป ไร้โรคา
ขออวยพร วอนอ้าง คุณพระสงฆ์
ช่วยธำรง สุขสันต์ กันทั่วหน้า
ข้าร่ำร้อง ลำนำ พร่ำภาวนา
ทั่วโลกา สิ้นทุกข์ ผาสุกเอย
..................................
คำสอนของท่านปัญญานันทภิกขุ
ขึ้นปีใหม่...มาร่วมใจประพฤติธรรมดังนี้กันเถิด
1. มีความเคารพธรรมยิ่งชีวิต
2. มีความรักเพื่อนมนุษย์ไม่จำกัด
3. อย่าทำตนให้เป็นพิษเป็นภัยแก่ใคร ๆ
4. อย่ามัวเมาในวัตถุจนลืมคุณค่าทางจิตใจ
5. หมั่นตรวจสอบตนเองบ่อย ๆ
6. หมั่นแก้ไขตนเองให้ดีขึ้นทุกวินาที
7. สามัคคีดีกว่าความแตกแยก

วันอังคารที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2551

การแก้ปัญหา-การกลบปัญหา

เรื่องนี้จากหนังสือ "มนุษย์" ของ คุณ"ศิวโมกข์ ก้องญาณ"

ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่เกิดมาแล้วไม่ดับไป
ไม่มีปัญหาใดที่เกิดแล้วแก้ไขไม่ได้

การแก้ปัญหา
ต้องหันหน้าเข้าหาปัญหา
ศึกษาที่มา ที่เป็น และที่ไปของปัญหา
แล้วตัดกระบวนการก่อปัญหา
และถอนรากเหง้าให้สิ้นไป

การหนีปัญหาที่เกิดขึ้น
โดยการสร้างอารมณ์ใหม่
หาใช่การแก้ปัญหาไม่
แต่เป็นการกลบปัญหา
เมื่อใดเพิกสิ่งใหม่ออก
ย่อมพบปัญหาเดิมเร้นอยู่

ดังนั้น
ยามมีปัญหา
มิควรหนีปัญหา
แต่ควรเผชิญปัญหา
แล้วแก้ไขให้ปราศไป
ด้วยปัญญาอันสุขุมคัมภีรภาพ

ถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งในโลกนี้เป็นปัญหาสำหรับคนหนึ่ง
ส่วนอื่น ๆ ในโลกนี้ก็มีปัญหาสำหรับเขาเช่นกัน
ด้วยโลกนั้นมิใช่ปัญหา
แต่ปัญหาคือความคิดในกมลของตนเอง

ขอขอบคุณ คุณ"ศิวโมกข์ ก้องญาณ"
ที่ได้ให้แนวคิดในการแก้ปัญหา

วันศุกร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2551

ถวายความอาลัยแด่.....สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ.....


...ข้าพเจ้าขอร่วมถวายความอาลัยและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ
ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส
ราชนครินทร์ ขอพระองค์ทรงเสด็จสู่สรวงสวรรคาลัย
และทรงสถิตย์ในใจพสกนิกรชาวไทยตลอดไป...