วันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

จาก "รู้จักตัวเอง"

อ่านหนังสือ "เต๋าแต้มสี" ของคุณ "ละเอียด ศิลาน้อย" รู้สึกประทับใจหลายเรื่อง
หน้าปกบอกว่าเทคนิคง่าย ๆ ในการใช้ชีวิตที่พลิกแพลงแง่มุมอย่างแยบคาย
แต่งแต้มสีสันของชีวิตให้สดใสด้วยความคิดแบบเต๋า
เป็นหนังสือที่อ่านง่าย ลีลาการเขียนเพลิดเพลินน่าอ่าน
ชอบหลายเรื่องในหนังสือเล่มนี้ เรื่องหนึ่งคือ " รู้จักตัวเอง"
อ่านเพื่อสอนใจตนเองได้ดี ขออนุญาตคัดลอกบางตอนมาให้อ่าน

คำว่ารู้จักตัวเองคำนี้มีความหมายกว้างขวางมากจริง ๆ
ท่านพุทธทาสภิกขุ เขียนเป็นกลอนว่า

"จงรู้จักตัวเอง" คำนี้หมาย
ว่าค้นพบ แก้วได้ ในตัวท่าน
หานอกตัว ทำไม ให้ป่วยการ
ดอกบัวบาน อยู่ในเรา อย่าเขลาไป
ในดอกบัว มีมณี ที่เอกอุตม์
เพื่อมนุษย์ ค้นหา มาให้ได้
"การตรัสรู้ หรือรู้ สิ่งใด ๆ
ล้วนมาจาก ความรู้ ตัวสูเอง"

สิ่งที่ดีที่สุดของมนุษย์หาได้ในกายนี้โดยมองลงไปที่ใจ
ให้เห็นสภาพเดิมของใจที่ปราศจากกิเลศ "ว่าง" เป็นพื้นฐาน
กิเลศ "วุ่น" จรมา เมื่อเกิดมีการกระทบระหว่างตากับรูป หูกับเสียง ฯลฯ
แล้วไม่มีสติกำหนดรู้ ว่ามันสักว่าธาตุกระทบกัน
ถ้าควบคุมทำใจได้ว่ากระทบก็สักว่ากระทบ
จิตก็จะว่าง แจ่มใสเบิกบานเสมอ
ตัวจริงของเราคือใจเดิมที่ว่าง หาให้เจอ ดูให้เห็น สัมผัสให้ได้
................................
เมื่อร่างกายเคลื่อนไหว ขยับตัว กะพริบตา อ้าปาก หันซ้าย ก้าวเดิน ฯลฯ
ให้รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของร่างกายนั้น แล้วจะไม่พลัดเข้าไปหมกอยู่ในความคิด
จะเริ่มรู้จักความคิด เริ่มเห็นความคิด ซึ่งเป็นนักมายากลตัวก่อเรื่องก่อราว
แล้วจะพบกระแสแห่งธรรมในที่สุด
นั่นเป็นความหมายชั้นลึกของคำว่า "รู้จักตัวเอง"
อันสืบเนื่องมาจากการรู้จักและเห็นความคิดของตัวเอง
(ปกติผู้คนทั้งหลายคิดโดยไม่รู้ไม่เห็นความคิด
จึงถูกความคิดฉุดรั้ง/ผลักดันให้ทุรนทุรายทุกข์ระทม)
.................................

2 ความคิดเห็น:

pumpond กล่าวว่า...

ไม่รู้จักตัวเองแล้วจะรู้จักผู้อื่นได้อย่างไร

yawaiam กล่าวว่า...

ใช่เลย...ใช่เลย
ขอขอบคุณที่แวะมาเยือน
ชอบแวะไปที่บล็อกคุณ pumpond
เพราะมีเรื่องและกลอนที่น่าอ่านมากมายเลย